สานสายใยเพื่อหัวใจแกร่ง
โครงการสานสายใยเพื่อนช่วยเพื่อน
กิจกรรมการสอนงาน และผลงานจักสานของทีมงานเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยประชาสัมพันธ์การดำเนินงานของศูนย์ฝึกฯ และช่วยปรับทัศนคติของคนในสังคมว่า ศูนย์ฝึกฯ ไม่ใช่คุก และเยาวชนที่ก้าวพลาดไม่ได้โหดร้ายน่ากลัวอย่างที่คิด ทัศนคติในมุมบวกเช่นนี้จะทำให้ชุมชนให้โอกาส เปิดใจรับเยาวชนที่ก้าวพลาดคืนสู่สังคมได้อย่างสบายใจ...เยาวชนที่ถูกปล่อยตัวก็จะมีพื้นที่ในการปรับตัว และดำรงชีวิตเป็นคนดีของสังคม โดยไม่ย้อนกลับไปทำผิดซ้ำซาก เพราะการถูกตีตรา ไม่ต้อนรับ จนต้องเข้าสู่มุมอับของชีวิตอีกครั้ง
โลกหลังกำแพง เป็นโลกที่ไร้ซึ่งอิสระใดๆ ในชีวิต ทุกคนต้องดำเนินชีวิตตามตารางเวลา แต่กระนั้นเข็มนาฬิกาในแต่ละโมงยามช่างเดินช้ามาก เมื่อทราบว่า การเข้าร่วมโครงการสานสายใยเพื่อนช่วยเพื่อน เป็นช่องทางของการได้ออกไปนอกรั้วศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 9 จังหวัดสงขลา สถานที่ฝึกอบรมเพื่อปรับพฤติกรรมเยาวชนที่กระทำความผิด การได้เปลี่ยนบรรยากาศออกไปข้างนอกแม้จะชั่วครูชั่วยาม กลายเป็นแรงจูงใจให้เยาวชนชายหลายคนสมัครใจเข้ามาเรียนรู้การสานตะกร้าในโครงการสานสายใยเพื่อนช่วยเพื่อน
“ผมเข้ามาโครงการนี้ เพราะเพื่อนที่ทำอยู่ก่อนแล้วชวนมาทำ เขาบอกว่าถ้ามาร่วมโครงการนี้มีประโยชน์เยอะ นอกจากจะได้ออกไปทำกิจกรรมข้างนอกแล้ว ยังมีผลงานการทำประโยชน์ไว้รายงานต่อศาลด้วย ผมเลยสนใจเข้ามาลองฝึกทำดูก่อน ไม่รู้ว่าจะทำได้หรือเปล่า ตอนนั่งดูก็คิดว่ายาก ทำครั้งแรกก็มึนหัวเพราะเส้นมันเยอะ แต่พอทำไปๆ มีเพื่อนคอยสอน มันก็ไม่ยากอย่างที่คิด” โบ๊ต เล่าย้อนถึงเหตุผลการเข้าร่วมโครงการในตอนแรก แต่เมื่อฝึกสานตะกร้าจนเป็นแล้ว ความสนใจเรื่องสิทธิประโยชน์กลายเป็นเรื่องรอง เพราะรู้สึกเพลิดเพลินยามทำงาน วินาทีที่เคยผ่านไปอย่างล่าช้า กลายเป็นวันเวลาที่ผ่านไปอย่างรวดเร็ว
“โครงการนี้เปิดโอกาสให้เราได้ทำตัวให้มีประโยชน์ ดีกว่าอยู่แบบเดิมๆ ทำเสร็จแล้วก็เกิดความภาคภูมิใจขึ้นว่าเราทำได้ ครูบอกตลอดว่า ให้ตั้งใจทำด้วยความเต็มใจจึงจะทำได้ บางคนเข้ามาลองฝึกแล้วก็ทำไม่ได้ เขาว่ามันยาก แต่ถ้าเป็นคนที่ใส่ใจ แรกๆ อาจจะทำไม่ได้ แต่ถ้าเราสอนเขาไปเรื่อยๆ เขาก็ทำได้” โบ๊ต เล่าถึงข้อค้นพบจากการเรียนรู้ของตนเอง
ส่วนคิวเล่าว่า ตอนเข้ามาอยู่ในศูนย์ฝึกฯ วันสองวันแรก เห็นเพื่อนๆ นั่งสานตะกร้าเขารู้สึกสะดุดใจ สงสัยว่าทำอะไรกัน เพราะในศูนย์ฝึกฯ มีเยาวชนอยู่ 100 กว่าชีวิต คนอื่นๆ วิ่งเล่น เหม่อลอย หรือทำกิจกรรมต่างๆ แต่เพื่อนกลุ่มนี้กลับนั่งสานตะกร้าอย่างตั้งใจ
“ผมเข้าไปถามเพื่อนที่ทำอยู่ว่ายากไหม แล้วไปถามครูว่ารับเด็กเข้าโครงการอีกไหม ครูถามว่าอยากทำจริงหรือเปล่า จะตั้งใจไหม ผมบอกอยากทำและตั้งใจจริง ครูก็ให้มาทำเลย ผมเป็นคนชอบทำสิ่งแปลกใหม่ที่ท้าทายความสามารถ อยากรู้ว่าถ้าทำเสร็จแล้วจะเป็นยังไง เลยทำด้วยความอยากรู้ พอทำได้ก็อยากรู้อีกว่าถ้าเราสอนแล้วเพื่อนจะทำได้หรือเปล่า” คิวเล่า
“ขณะสอนเขาจะสังเกตอาการของเพื่อนว่าตั้งใจฟังสิ่งที่สอนหรือไม่ ถ้าเห็นว่า เพื่อนไม่ฟังก็จะหยุดสอน แล้วให้พักก่อน จะไม่พยายามบีบบังคับ เพราะผ่านประสบการณ์มาแล้วจึงรู้ว่า ถ้าตั้งใจเรียนแป๊บเดียวก็ทำได้ คนไหนไม่ได้ตั้งใจจริงๆ มาได้แค่วันสองวันเขาก็จะไม่กลับมาฝึกอีก”
จากผู้รับเป็นผู้ให้
ช่วงท้ายของการทำงานโบ๊ตและเพื่อนร่วมโครงการสานสายใยฯ ปี 2 ต่างทยอยถูกปล่อยตัวออกจากศูนย์ฝึกฯ เหลือแต่อาร์ทและไบร์ทที่ก้าวมาเป็นแกนนำสืบทอดกิจกรรมจากรุ่น 2 สู่รุ่น 3 ที่มีสมาชิกคือ คิว ฮิม รงค์ รอน และชาญ
แม้จะเป็นปีที่ 3 แต่เป้าหมายหลักของโครงการยังเหมือนเดิม นั่นคือฝึกให้เยาวชนมีทักษะในการจักสานเส้นพลาสติกเพื่อนำไปประกอบอาชีพหลังปล่อยตัว มีเงินทุนช่วยเหลือเพื่อนที่ใกล้ระยะปล่อยตัวและไม่มีญาติมาเยี่ยม และพัฒนาทักษะด้านการจัดการอารมณ์ของเยาวชน โดยปีนี้มีแผนขยายขอบเขตการทำงานไปสู่การเผยแพร่ความรู้สู่ชุมชน และเพื่อนในศูนย์ฝึกแห่งอื่นๆ
และยังคงรูปแบบ “พี่สอนน้อง” เหมือนเดิม สำหรับน้องใหม่จะเริ่มจากการฝึกสานตะกร้าขนาดเล็กที่สุดก่อน ฝึกทำจนกว่าจะเข้ามือ แล้วขยับไปสานตะกร้าขนาดใหญ่ขึ้น การฝึกฝนมีรุ่นพี่เป็นพี่เลี้ยงคอยช่วยสอนและช่วยพิจารณาผลงานว่าได้มาตรฐานหรือไม่ หากได้มาตรฐานก็จะยกระดับไปสานรูปทรงอื่นๆ หรือขนาดที่ใหญ่ขึ้น
จากบทบาทของผู้เรียนในปีก่อน ในปีนี้อาร์ทกับไบรท์ขยับขึ้นมาทำหน้าที่ผู้สอน วิธีการเมื่อครั้งต้องเป็นผู้เรียนถูกถ่ายทอดสู่เพื่อนรายใหม่ๆ เริ่มต้นตั้งแต่การตัดเส้นพลาสติก จากนั้นจึงให้สานตะกร้าใบเล็ก ผ่านการพาทำ เพื่อนทำได้บ้างไม่ได้บ้าง ผู้สอนก็จะต้องรู้จักควบคุมอาการหงุดหงิด ไม่ได้ดั่งใจที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
อาร์ท บอกว่า ยากเหมือนกัน บางทีเราสอนแล้วเพื่อนไม่เข้าใจก็มีหัวเสียและเคืองเพื่อนบ้าง คิดว่าเพื่อนก็คงหัวเสียเหมือนกันที่เราสอนแล้วเขาทำไม่ได้
ในขณะที่ไบรท์บอกว่า ขณะสอนเขาจะสังเกตอาการของเพื่อนว่าตั้งใจฟังสิ่งที่สอนหรือไม่ ถ้าเห็นว่าเพื่อนไม่ฟังก็จะหยุดสอน แล้วให้พักก่อน จะไม่พยายามบีบบังคับ เพราะผ่านประสบการณ์มาแล้วจึงรู้ว่าถ้าตั้งใจเรียนแป๊บเดียวก็ทำได้ คนไหนไม่ได้ตั้งใจจริงๆ มาได้แค่วันสองวันเขาก็จะไม่กลับมาฝึกอีก
ส่วนฮิม สะท้อนมุมผู้เรียนว่า “เขาสอนทีละขั้นตอนครับ ครั้งแรกให้ผมไปวัดสาย เขาก็สอนวิธีการวัดการตัดสายว่าตัดยังไง สานแบบไหน แรกๆ ก็ทำไม่ได้เหมือนกัน รู้สึกปวดหัวเลยขอพักก่อน พอหายดีก็กลับมาทำใหม่ ตอนที่ทำไม่ได้ ผมก็อยากเลิกนะ ยอมรับว่า ที่เข้าโครงการส่วนหนึ่งเพราะอยากออกไปข้างนอก แต่พอทำไปนานๆ เข้าก็รู้สึกรักในสิ่งที่ทำขึ้นมา”
เช่นเดียวกับรอน ที่มุ่งมั่นเรียนสานตะกร้า เพราะตั้งใจที่จะนำไปสอนต่อให้แม่ เห็นว่า แม่อยู่บ้านว่างๆ จะได้มีอาชีพ
ปีนี้ทีมงานตั้งเป้าหมายสมาชิกร่วมเรียนรู้จำนวน 30 คน แต่วิถีชีวิตของเด็กในศูนย์ฝึกฯ ที่มีคนเข้าออกหมุนเวียนอยู่เสมอ ทำให้มีจำนวนสมาชิกขึ้นๆ ลงๆ อยู่ตลอดเวลา บางคนเข้ามาฝึกแล้วทำไม่ได้ก็ออกไป บางคนฝึกจนทำได้และเห็นประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับตนเองก็อยู่ต่อ การฝึกสานเส้นพลาสติกหลากสีสันที่ชวนสับสนในช่วงแรก จึงเป็นด่านแรกที่ทดสอบความอดทนและความมุ่งมั่นของทีมงาน ดังนั้นทีมงานจึงเปิดรับสมาชิกอยู่ตลอดเวลา ไม่ได้จำกัดจำนวน ขึ้นอยู่กับความสนใจของแต่ละคน
“ต้องดูไปเรื่อยๆ สังเกตว่าถ้าเพื่อนเข้ามาฝึกทำทุกวัน แสดงว่าเขาตั้งใจทำจริงๆ” คิว เล่า“ผมว่าไม่มีใครหนีหรอก ครูให้โอกาสเราแล้ว เราจะทำลายครูได้อย่างไร ผมอยู่ศูนย์ฝึกฯ มาปีกว่าๆ ไม่เคยได้ออกไปข้างนอกเลย ทางบ้านผมก็ไม่มีเงิน ไม่มีใครมาเยี่ยม พอมาอยู่โครงการนี้ตั้งแต่ตุลาคมปี 2558 จากที่ไม่มีของใช้ก็มี ขนมก็ได้กิน ผมจะพยายามเป็นคนดีให้ได้”
โอกาสฟื้นคืนศักดิ์ศรี
ปีนี้ทีมงานได้รับโอกาสให้ขยายขอบเขตการสอนออกไปสู่ชุมชนภายนอก โดยกิจกรรมส่วนหนึ่งคือการไปสอนเพื่อนๆ ในศูนย์ฝึกฯ แห่งอื่น หนึ่งในนั้นคือ ศูนย์ฝึกฯ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่ย้ายเยาวชนบางส่วนมาปรับพฤติกรรมในค่ายรัตนพล (กองพลพัฒนาที่ 4 ค่ายรัตนพล อำเภอคลองหอยโข่ง จังหวัดสงขลา) ที่ทีมงานมีโอกาสออกไปสอนทักษะจักสานให้แก่เพื่อนในค่ายฯ โดยจัดผู้สอน 1 คน ต่อนักเรียน 2 คน
นอกจากนี้ ทีมงานยังมีโอกาสออกไปสอนเพื่อนเยาวชนที่สถานพินิจ จังหวัดสุราษฎร์ธานี จากคำเชิญชวนของสถานพินิจเอง ครั้งนั้นมีผู้เรียนทั้งหมด 30 คนใช้เวลาสอน 3 วัน โดยค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ค่าอุปกรณ์และค่าที่พักมาจากรายได้ของกลุ่มเองทั้งหมด ทั้งยังไม่รับค่าตอบแทนวิทยากร แต่มอบเงินส่วนนั้นไว้ให้สถานพินิจฯ นำไปซื้ออุปกรณ์จักสานเพื่อให้เยาวชนได้ที่ผลิตชิ้นงานต่อไป
เช่นเดียวกับกลุ่มแม่บ้านที่อำเภอนาทวี เมื่อทราบข่าวว่า ในศูนย์ฝึกฯ มีการสอนอาชีพจักสานตระกร้า ก็ติดต่อขอให้เยาวชนไปสอน ลูกศิษย์สูงวัยกว่า 20 คน ทำให้ทีมงานรู้สึกกังวลในตอนแรก ทั้งเรื่องการยอมรับ และการสอนคนที่อายุมากกว่า แต่เมื่อได้สัมผัสการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากชาวบ้าน ความรู้สึกกังวลถูกคลี่คลาย เพราะลูกศิษย์สูงวัยนอกจากจะมีพื้นฐานงานจักสานมาบ้างแล้ว ยังตั้งใจเรียนรู้ การเรียนการสอนจึงเป็นไปอย่างราบรื่น
กิจกรรมการสอนงาน และผลงานจักสานของทีมงานเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยประชาสัมพันธ์การดำเนินงานของศูนย์ฝึกฯ และช่วยปรับทัศนคติของคนในสังคมว่า ศูนย์ฝึกฯ ไม่ใช่คุก และเยาวชนที่ก้าวพลาดไม่ได้โหดร้ายน่ากลัวอย่างที่คิด ทัศนคติในมุมบวกเช่นนี้จะทำให้ชุมชนให้โอกาส เปิดใจรับเยาวชนที่ก้าวพลาดคืนสู่สังคมได้อย่างสบายใจ ทำให้เยาวชนที่ถูกปล่อยตัวมีพื้นที่ในการปรับตัว และดำรงชีวิตเป็นคนดีของสังคม โดยไม่ย้อนกลับไปทำผิดซ้ำ เพราะการถูกตีตรา ไม่ต้อนรับ จนต้องเข้าสู่มุมอับของชีวิตอีกครั้ง
การที่จะได้รับสิทธิออกไปร่วมกิจกรรมนอกศูนย์ฝึกฯ ทั้งการร่วมประชุม อบรม ไปสอน หรือจำหน่ายสินค้านั้น ผู้ได้รับการพิจารณาต้องมีความประพฤติอยู่ในระดับดี การได้รับโอกาสออกไปข้างนอกคือสิ่งบ่งบอกความไว้วางใจจากครู และสร้างความรู้สึกรับผิดชอบโดยที่ครูไม่ต้องบอกอีกด้วย
“ไม่หนีเพราะไม่อยากให้โครงการเสียที่เรา โครงการนี้มีมาหลายปีแล้วไม่อยากทำให้เสียชื่อ ไม่อยากให้ครูเดือดร้อน” อาร์ทบอก
ขณะที่ไบร์ท บอกว่า “ผมว่าไม่มีใครหนีหรอก ครูให้โอกาสเราแล้ว เราจะทำลายครูได้อย่างไร ผมอยู่ศูนย์ฝึกฯ มาปีกว่าๆ ไม่เคยได้ออกไปข้างนอกเลย ทางบ้านผมก็ไม่มีเงิน ไม่มีใครมาเยี่ยม พอมาอยู่โครงการนี้ตั้งแต่ตุลาคมปี 2558 จากที่ไม่มีของใช้ก็มี ขนมก็ได้กิน ผมจะพยายามเป็นคนดีให้ได้”
โบ๊ต เสริมต่อว่า ครูประชิดเป็นคนที่ไว้ใจเด็กมาก เบิกตัวพวกเราออกมาแล้วครูจะไม่คุมเลย แต่ก่อนเบิกตัวครูจะถามก่อนว่า จะหนีไหม ครูให้เรารับปาก เราก็บอกว่าไม่หนี เมื่อครูไว้ใจเรา เราก็ต้องทำดีให้สมกับที่ครูไว้ใจ
เมื่อได้รับการยอมรับจึงตระหนักในคุณค่าของตนเอง เกิดความรับผิดชอบ และตระหนักถึงผลกระทบจากการกระทำของตนที่จะส่งผลต่อผู้อื่น เป็นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่ถูกฟื้นคืนจากกิจกรรมของโครงการ
นอกจากโอกาสในการออกไปข้างนอกอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง เพื่อจำหน่ายสินค้าตามหน่วยงานต่างๆ ในจังหวัดสงขลาแล้ว ทีมงานยังมีรายได้จากการจำหน่ายสินค้าอีกด้วย โดยรายได้จะถูกจัดสรรปันส่วนดังนี้ 1) เป็นทุนนำไปซื้ออุปกรณ์ 2) เป็นเงินออมเข้าบัญชีสมาชิกแต่ละคน 3) ซื้อของใช้และเป็นค่าอาหารภายในกลุ่ม และ 4) สำหรับใช้จ่ายเวลาออกไปสอนนอกสถานที่
ความรับผิดชอบร่วม
แต่ใช่ว่าการทำงานทุกอย่างจะราบรื่น การได้รับความไว้วางใจจากครูให้ดูแลกันเอง ทั้งเรื่องการเรียนการสอน การจัดการภายในกลุ่ม รวมทั้งการดูแลอุปกรณ์ เช่น มีด กรรไกร ลวด ฯลฯ ซึ่งเป็นของมีคม หากหลุดออกไปจากห้องฝึกก็อาจจะกลายเป็นอาวุธเมื่อมีเหตุทะเลาะวิวาท ดังนั้นหลังเลิกทำงานทุกครั้ง ทีมงานจึงต้องตรวจเช็คอุปกรณ์ทุกชนิดและทุกชิ้นอย่างเข้มงวด แต่กระนั้นระหว่างการเตรียมอุปกรณ์เพื่อออกไปสอนบุคคลภายนอก กรรไกร 1 อัน หายไปจากกล่องวัสดุอุปกรณ์
“วันนั้นเป็นวันที่จะออกไปสอนข้างนอกพอดี พวกเรากำลังยุ่งกับการตัดสาย และเตรียมอุปกรณ์ เผลอแป๊บเดียวกรรไกรหายไปแล้ว ช่วยกันหาเท่าไรก็ไม่เจอ เลยคุยกันว่า ถ้าต้องรับโทษทุกคนต้องรับผิดชอบร่วมกัน เพราะถือว่าเป็นกรรไกรของโครงการ จึงบอกครูและแจ้งเจ้าหน้าที่ทุกคนให้รับรู้” ชาญ เล่าแม้อุปกรณ์สำคัญจะหายไป แต่ทีมงานไม่ได้ใช้ระบบการตรวจสอบโดยการค้นตัวสมาชิก เพราะเชื่อใจกัน และรู้อยู่แล้วว่า ถ้าอุปกรณ์ของกลุ่มหายไปทุกคนต้องรับผิดชอบร่วมกัน
“ทำโครงการด้วยกันถ้าคิดจะเอาไปเขาก็ต้องเดือดร้อนด้วย วันนั้นเลยคิดว่าไม่ค้นตัวดีกว่า ถ้าค้นแล้วไม่เจอเพื่อนก็เสียความรู้สึกกับเรา เราก็เสียความรู้สึกกับเพื่อน” ชาญเล่า ความผิดพลาดที่เกิดขึ้น จึงเป็นบทเรียนให้ทีมงานต้องเข้มงวดกับการตรวจเช็คอุปกรณ์มากขึ้น เพราะนั่นคือ ความรับผิดชอบร่วมกัน และที่สำคัญคือเพื่อไม่ให้ครูที่ไว้วางใจพวกเขาต้องเดือดร้อน
ทีมงานยังยอมรับว่า แม้งานจักสานจะช่วยให้เกิดความเพลิดเพลิน และเป็นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ แต่การทำสิ่งเดิมซ้ำๆ ก็สร้างความเบื่อหน่ายได้เหมือนกัน เมื่อเกิดอาการเบื่อก็ต้องหาวิธีจัดการความรู้สึกของตนเอง บางคนเปลี่ยนแบบใหม่ เลือกเส้นพลาสติกสีสันใหม่ๆ ไปเรื่อยๆ บางครั้งอยากทำรูปทรงแปลกใหม่ก็จะขอให้ครูเขี้ยวหาแบบแล้วถ่ายรูปมาให้ดู แล้วทีมงานก็จะช่วยกันแกะลาย ทดลองฝึกสาน ฝีมือการจักสานและความคิดสร้างสรรค์จึงพัฒนาต่อยอดไม่สิ้นสุด
“การได้เรียนรู้เรื่องการจักสานเป็นพื้นฐานที่สามารถต่อยอดเป็นอาชีพเมื่อได้รับการปล่อยตัว ตอนนี้ตั้งหลักวางเป้าหมายชีวิตที่จะออกไปช่วยงานทางบ้านและเรียนต่อ เพราะตอนนี้เรียน กศน. ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย พร้อมๆ กับการลงทะเบียนเรียนคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหงไปด้วย”
เป้าหมายชีวิตที่คิดใหม่
การที่ก้าวพลาดจนพลั้งทำความผิด ต้องมาปรับพฤติกรรมในศูนย์ฝึกฯ เป็นเพราะความเยาว์วัยที่อารมณ์ ความรู้สึก มักพ่ายแพ้ต่อความเย้ายวนของสิ่งต่างๆ เมื่อได้เรียนรู้งานจักสานจึงส่งผลต่อการปรับเปลี่ยนอารมณ์ ความรู้สึกของทีมงานแต่ละคนแตกต่างกันไป
ไบร์ทบอกว่า เมื่อก่อนเป็นคนสมาธิสั้น งานจักสานทำให้มีสมาธิมากขึ้น เพราะต้องตั้งใจทำ ไม่เช่นนั้นงานก็จะเสียต้องรื้อทำใหม่ ถ้าอารมณ์ร้อนจะทำไม่ได้ การเข้ามาอยู่ในกลุ่มยังเป็นประโยชน์ต่อชีวิตตนเองซึ่งกำลังเรียน กศน.ระดับมัธยมศึกษาต้น ที่ต้องสะสมเวลาในการทำกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต (กพช.) 200 ชั่วโมง ที่ทางศูนย์ฝึกฯ อนุญาตให้นำชั่วโมงฝึกสานตะกร้ารวมเข้าไปในรายวิชา กพช. ของการเรียน กศน. ได้
สำหรับคิวมองว่า การได้เรียนรู้เรื่องการจักสานเป็นพื้นฐานที่สามารถต่อยอดเป็นอาชีพเมื่อได้รับการปล่อยตัว ตอนนี้ตั้งหลักวางเป้าหมายชีวิตที่จะออกไปช่วยงานทางบ้านและเรียนต่อ เพราะตอนนี้เรียน กศน. ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย พร้อมๆ กับการลงทะเบียนเรียนคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหงไปด้วย
ด้านฮิมเล่าว่า “ผมได้ทักษะการสานตะกร้า ได้เรียนรู้ว่าขั้นตอนที่ถูกต้องเป็นแบบไหน ต้องทำยังไง ออกไปสามารถนำไปทำเป็นอาชีพเสริม ที่จริงผมเป็นคนใจร้อน ตอนอยู่สถานพินิจผมทะเลาะกับเพื่อนจนได้แผลเย็บมา 5 เข็ม เรื่องที่ทะเลาะกันก็เรื่องไม่เป็นเรื่องแต่เราก็ทำให้เป็นเรื่อง เพราะควบคุมอารมณ์ไม่ได้ พอมาอยู่ที่นี่ได้มานั่งสานตะกร้าทำให้ผมใจเย็นลง ถ้าใจร้อนจะทำไม่ได้ ต้องมีสมาธิถึงจะทำได้ ถ้าได้ออกไปข้างนอกคิดว่าจะควบคุมตัวเองได้ดีขึ้น ไม่เช่นนั้นอาจต้องกลับมาอยู่ในนี้อีก ผมไม่อยากเข้ามาแล้ว”
ส่วนชาญบอกว่า ได้ฝึกความรับผิดชอบ โดยเฉพาะบทเรียนเรื่องกรรไกรหาย เป็นบทเรียนสำคัญที่ทำให้เขาเห็นถึงผลกระทบร้ายแรงที่จะเกิดขึ้น และพัฒนาความไว้เนื้อเชื่อใจในตัวเพื่อนๆ จึงตั้งใจว่า ต่อไปจะทำงานอย่างรอบคอบ มีความรับผิดชอบมากกว่าเดิม “ประสบการณ์ตรงจากการลงมือทำหน้าที่ต่างๆ ทำให้เกิดการเรียนรู้ได้เร็ว เพราะหลังกลับจากทำกิจกรรมทุกครั้ง ทีมงานจะร่วมกันสรุปบทเรียน ทบทวนความผิดพลาดที่เกิดขึ้น และนำไปแก้ไขปรับปรุงการทำงานในครั้งต่อไป เมื่อมีวงรอบของการทำงานร่วมกันเช่นนี้ วงจรการเรียนรู้จึงหมุนวนถ่ายทอดอย่างต่อเนื่อง”
มากกว่าโอกาสคือ ความไว้ใจ
ครูเขี้ยว-ประชิด ตรงจิต ที่ปรึกษาโครงการ เล่าว่า ปีนี้การทำงานในโครงการสานสายใยเพื่อนช่วยเพื่อนเน้นไปที่การนำความรู้ออกสู่ชุมชน เพราะมีความรู้ความเชี่ยวชาญที่สานต่อไว้จากรุ่นสู่รุ่น จึงได้ประชาสัมพันธ์โครงการให้เป็นที่รับทราบของหน่วยงาน องค์กรต่างๆ จนได้รับเชิญให้ไปสอนเยาวชนในศูนย์ฝึกฯ แห่งอื่นและชุมชนบางแห่ง ขณะนี้กำลังประสานงานกับ กศน. ให้ทีมงานไปเป็นวิทยากรช่วยสอน ซึ่งอยู่ระหว่างการหาวันเวลาที่ลงตัว
“เราพยายามบอกกับผู้ใหญ่เรื่องการให้โอกาสน้องๆ ในศูนย์ฝึกฯ ได้พัฒนาตัวเอง ไม่ว่าใครจะมีภูมิหลังอย่างไร ตัวเราเองก็ต้องพยายามหาโอกาสให้เด็กได้ร่วมเรียนรู้จากการลงมือทำสิ่งต่างๆ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับตัวเขา เช่น การไปสอนเด็กๆ ในสถานพินิจคุ้มครองเด็กและเยาวชน จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยงบประมาณที่ใช้ดำเนินกิจกรรมทั้งหมดแบ่งมาจากค่าใช้จ่ายของน้องๆ ในโครงการ เพราะงบประมาณจากต้นสังกัดไม่พอใช้”
ทั้งนี้ครูเขี้ยวมองว่า พัฒนาการของทีมงานในแต่ละรุ่นมีความแตกต่างกัน ถ้ามองถึงความเข้มแข็งของจิตใจรุ่นหลังๆ อาจจะแพ้รุ่นหนึ่ง เพราะรุ่นหนึ่งผ่านการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งโอกาสในการทำโครงการ ทีมงานต้องพยายามทำงานด้วยตัวเอง เพื่อพิสูจน์ให้ครูและคนภายนอกยอมรับในตัวเขา ส่วนน้องรุ่นที่ 3 อาจจะอยู่ในยุคทองที่รุ่นพี่สร้างผลงาน ความน่าเชื่อถือต่างๆ ไว้ให้แล้ว เพียงแค่สานต่อให้โครงการคงอยู่และดียิ่งขึ้นเท่านั้น
“ในเรื่องฝีมือการทำงานเมื่อเข้ามาฝึกเดือนถึงสองเดือน เขาสามารถออกไปสร้างผลงานของตัวเองได้ แต่ในเรื่องการพัฒนาความเข้มแข็งภายจิตใจ ผมว่าเด็กรุ่นนี้ยังไม่ได้เติมเต็มให้กับตัวเขามากพอ”
ความแข็งแกร่งของจิตใจที่ยังไม่มากพอ สะท้อนผ่านอาการสวิงของพฤติกรรมที่บางคนรู้ทั้งรู้ว่ากฎเกณฑ์ในศูนย์ฝึกฯ มีเรื่องใดบ้าง หากทำผิดจะโดนลดขั้นความประพฤติอย่างไรก็ยังฝืนทำผิด เช่น การสัก การทะเลาะวิวาท ดังนั้นในฐานะที่ปรึกษาโครงการจึงต้องเติมเต็มเรื่องการสร้างความเข้มแข็งทางใจให้แก่ทีมงาน ซึ่งคงต้องใช้ระยะเวลาในการพูดคุยให้เขามองเห็นและรู้ว่ากว่ารุ่นพี่จะสร้างโครงการขึ้นมาได้ต้องใช้เวลา ความยากลำบาก และต้องต่อสู้มากเพียงไรไร ถือเป็นความท้าทายเพื่อพิสูจน์ตัวเองต่อครู เจ้าหน้าที่ และผู้ใหญ่คนอื่นๆ ที่มองเข้ามาแล้วคิดว่าไม่สามารถทำได้ แต่รุ่นพี่ทำได้
เงื่อนไขสำคัญของโครงการที่ช่วยในการปรับพฤติกรรมคือ โอกาสที่จะได้รับสิทธิต่างๆ ไม่เลือกว่าเด็กจะเป็นใครมาจากไหน แต่เมื่อเข้ามาแล้วต้องมีความจริงใจในการทำงาน เด็กจะรู้ว่าครูเป็นแค่พี่เลี้ยง ครูไม่สามารถเป็นผู้ถ่ายทอดได้ทั้งหมด ผู้ที่ถ่ายทอดจริงๆ จะเป็นรุ่นพี่ที่จะต้องเข้ามาให้ความรู้กับรุ่นน้อง การเรียนรู้ต้องมาจากรุ่นพี่ โครงการนี้เกิดขึ้นได้เพราะตัวเยาวชนไม่ใช่เพราะครู เพราะฉะนั้นทุกคนต้องร่วมใจกันสร้างและรักษาโครงการนี้ให้คงอยู่ต่อไป สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดในเรื่องของจิตใจ ก็คือทุกคนจะต้องไม่ทิ้งโครงการนี้
การซื้อใจทีมงานด้วยการให้โอกาสออกไปข้างนอก เป็นเรื่องที่ครูเขี้ยวต้องเอาหน้าที่การงานของตนเองเป็นประกัน ดังนั้นสิ่งที่บอกแก่ทีมงานที่ได้รับเลือกออกไปในแต่ละครั้งคือ ครูเปิดใจที่จะให้โอกาส ถ้าครูเบิกตัวออกไปแล้วใครหนี สิ่งแรกที่จะเกิดขึ้นคือ ครูโดนตั้งคณะกรรมการสอบสวนแน่นอน ครูเขี้ยวมองว่า การทำงานของทีมงานมีจุดเด่นคือ การส่งไม้ต่อให้รุ่นน้อง ทั้งเรื่องการออกไปจำหน่ายหรือออกไปสอน ทีมงานจะมีการวางแผนร่วมกัน โดยแบ่งบทบาทหน้าที่ว่าใครจะต้องทำอะไรในแต่ละครั้ง เช่น คนที่ทำการสาธิต คนเรียกลูกค้าและขาย คนทำบัญชี คนเก็บเงิน ฯลฯ “หน้าที่ที่ทำเขาจะหมุนเวียนไปตามความถนัด ขณะที่ออกไปทำกิจกรรมภายนอกจะมีรุ่นพี่ไปกับรุ่นน้อง เพราะฉะนั้นการเรียนรู้จะเป็นการสอนงานโดยมีรุ่นพี่ประกบกับรุ่นน้องไปในตัว ให้รุ่นน้องเรียนรู้ว่าใครต้องทำอะไร อย่างไร”
ประสบการณ์ตรงจากการลงมือทำหน้าที่ต่างๆ ทำให้เกิดการเรียนรู้ได้เร็ว เพราะหลังกลับจากทำกิจกรรมทุกครั้ง ทีมงานจะร่วมกันสรุปบทเรียน ทบทวนความผิดพลาดที่เกิดขึ้น และนำไปแก้ไขปรับปรุงการทำงานในครั้งต่อไป เมื่อมีวงรอบของการทำงานร่วมกันเช่นนี้ วงจรการเรียนรู้จึงหมุนวนถ่ายทอดอย่างต่อเนื่อง ทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น สิ่งที่สะท้อภาพความสำเร็จของโครงการนี้ส่วนหนึ่งคือ ผู้ร่วมโครงการมีงบประมาณในการทำกิจกรรมและดูแลความเป็นอยู่ของตนเองให้ดีขึ้น
“เรื่องงบประมาณเป็นเรื่องที่หลายคนอาจตั้งคำถามเหมือนกันว่า ครูได้เงินเยอะไหม ครูนำเงินของเด็กไปใช้มากไหม เราไปบังคับคนภายนอกไม่ได้ว่าเขาจะคิดยังไงกับเรา แต่เรามีความเข้มแข็งอยู่ได้มาถึง 3 ปี ส่วนแบ่งจะไม่ใช่จุดหลัก แต่ส่วนสำคัญที่ต้องมีคือทุนหมุนเวียนในโครงการและเผยแพร่ความรู้ ค่าใช้จ่ายเรื่องของกินที่ออกไปข้างนอกเด็กๆ ต้องได้กิน และคนที่ออกไปต้องซื้อของมาฝากเพื่อนที่ไม่ได้ออกไปด้วย ทั้งของกินของใช้กองกลาง ส่วนที่เหลือจึงนำมาเป็นส่วนแบ่งเก็บไว้ในบัญชีสมาชิกแต่ละคน
ไม่ว่าของใครขายได้หรือไม่ได้ก็ตาม โดยเฉลี่ยให้เท่ากันทุกคน แต่ต่อไปจะวางแผนใหม่ว่าผลิตภัณฑ์แต่ละชิ้นที่ขายออกไปได้ชิ้นละกี่บาท แล้วทำบัญชีไว้ให้ทุกคนมาสรุปร่วมกันตอนสิ้นเดือน เราเรียนรู้ส่วนนี้จากประสบการณ์เหมือนกัน ฉะนั้นคนที่ตั้งใจทำมากขายได้มากก็จะได้มากหน่อย”
ครูเขี้ยวมองอนาคตของโครงการนี้ว่า ในปีต่อไปกิจกรรมเกี่ยวกับการจักสานภายในศูนย์ฝึกฯ สามารถดำเนินงานได้โดยไม่ต้องรอรับการสนับสนุนจากแหล่งทุนภายนอก เพราะได้มีการสะสมทุนไว้ส่วนหนึ่งแล้ว แต่สิ่งที่ยังต้องการคือ การสนับสนุนด้านการพัฒนาความรู้ เช่น การอบรม การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ต่างๆ เพื่อเปิดโอกาสการเรียนรู้ของเยาวชนในศุูนย์ฝึกฯ ต่อไป
“ถือเป็นความโชคดีของศูนย์ฝึกฯ เขต 9 ที่ ผู้อำนวยการ ผู้ช่วย และคณะครูที่นี่ให้การสนับสนุนกิจกรรมในลักษณะนี้ ให้ความเชื่อใจและเชื่อถือในตัวเด็กว่าเขาสามารถทำกิจกรรมนี้ได้ สามารถสร้างสรรค์ผลงานให้คนทั่วไป เช่น ชาวบ้านในชุมชนต่างๆ เชื่อถือในตัวโครงการเราได้ นับได้ว่า โครงการนี้เป็นตัวจุดประกายให้มีโครงการอื่นๆ ตามมา กลายเป็นจุดขายของศูนย์ฝึกฯ เขต 9 ที่เด็กสามารถบริหารจัดการโครงการเองได้ โดยที่มีครูเป็นแค่พี่เลี้ยงอย่างเดียว เป็นศูนย์ฝึกฯ แรกที่ทำได้” ครูเขี้ยวกล่าวทิ้งท้าย
เพราะเชื่อมั่นว่า “คนเปลี่ยนแปลงได้” การหยิบยื่น “โอกาส” คือ สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับผู้ก้าวพลาดที่ควรได้รับเพื่อปรับเปลี่ยนตนเอง แม้ทุกคนจะก้าวเข้ามาเรียนรู้งานจักสาน เพราะหวังสิทธิประโยชน์ แต่เมื่อได้สัมผัสอย่างจริงจัง กลับรู้สึกรักในสิ่งที่ทำ และได้รับสิ่งดีๆ กลับคืนมากกว่าที่คิด ทั้ง ขนม อาหาร ของใช้ การได้ออกไปข้างนอกศูนย์ฝึกฯ มีค่าต่อใจ เช่นเดียวกับการมีสติสมาธิ การจัดการอารมณ์พลุ่งพล่านของวัย และความรับผิดชอบ สิ่งสำคัญคือการยอมรับจากผู้คนรายรอบ ทำให้ทีมงานทุกคนตระหนักในคุณค่าของตนเอง รู้สึกมีศักดิ์ศรีที่จะต้องรับผิดชอบไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน และรู้จักการเป็นผู้ให้ เพราะได้รับ “โอกาส” หลายชีวิตในศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 9 จังหวัดสงขลาจึงตั้งหลักได้อีกครั้ง
โครงการ : สานสายใยเพื่อนช่วยเพื่อน
ที่ปรึกษาโครงการ : ครูประชิด ตรงจิต เจ้าหน้าที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวน เขต 9 จังหวัดสงขลา
ทีมทำงาน : เยาวชนจากศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวน เขต 9 จังหวัดสงขลา